ตาทุเรียง แหล่งผลิตสังคโลกสมัยสุโขทัย

3.2-1-56(500)

ตั้ง อยู่ที่บ้านเกาะน้อย ห่างจากตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัยเลียบแม่น้ำยมไปทางเหนือประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีเตาเผาที่ขุดพบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกแล้วกว่า 500 เตา ในระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถือได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเมืองศรีสัชนาลัย
มีการขุดพบเครื่องสังคโลกทั้งในสภาพสมบูรณ์ และแตกหักเป็นจำนวนมาก ลักษณะเตาเผาจะเป็นรูปยาวรีคล้ายประทุนเรือจ้างยาวประมาณ 7 – 8 เมตร ศูนย์ศึกษาฯ ดังกล่าว ปัจจุบันมีอยู่ 2 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเตาที่ใช้เป็นที่ศึกษา มีหมายเลขเตาที่ใช้เรียกในการศึกษา คือ เตาที่ 42 เป็นเตาบนดิน และเตาที่ 61 เป็นเตาใต้ดิน

เตาทุเรียง เตาสังคโลก เกาะน้อย ศรีสัชนาลัย

ภายในตัวอาคารจะมีการตั้งแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ ตลอดจนวิวัฒนาการเครื่องถ้วยสมัยโบราณให้นักท่องเที่ยวชมอีกด้วย ศูนย์ฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท การเดินทาง จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือ ทางประตูเตาหม้อไปถึงบ้านเกาะน้อยประมาณ 6.5 กิโลเมตร จะเห็นซากเตาเผาโบราณเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หรือจะเดินทางจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1201 ไปประมาณ 7 กิโลเมตร ลงมาที่บ้านเกาะน้อย จะเห็นอาคารศูนย์ฯ อยู่ทางซ้ายมือ

เครื่องสังคโลกคืออะไร

“เครื่องสังคโลก” หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในรูปภาชนะเครื่องใช้และเครื่องประดับอาคารต่าง ๆ เช่น ถ้วย ชาม จาน ไหดิน โอ่งน้ำ ขวดดิน กระปุก ป้านน้ำชา ช้อน ตลอดดจนตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ เช่น ช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดา พระพุทธรูปหรือแม้แต่กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์สังคโลก ท่อน้ำ ตุ๊กตาเสียกบาล ตัวหมากรุก ช่อฟ้า บราลี ฯลฯ มีทั้งแบบที่เคลือบน้ำยาและไม่เคลือบน้ำยา
ลักษณะเด่นของเครื่องสังคโลก
ลักษณะเด่นของเครื่องสังคโลกคือ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเนื้อแตกลายงาสีเขียวไข่กา วิวัฒนาการของการเคลือบสีเขียวประณีตงดงามทำให้มีการเรียกชื่อเครื่องปั้นดินเผาสีเขียวว่า “เซลาดอน” ซึ่ง เคลือบสีระดับต่าง ๆ กัน เช่น สีเขียวไข่กา สีเขียวมะกอก

แหล่งเตาเผาเครื่องสังคโลก มีอยู่ 3 แห่ง คือ
เครื่องสังคโลกเตาสุโขทัย หรือเรียกว่า เตาทุเรียงสุโขทัย

ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นภาชนะถ้วยชามเป็นส่วนใหญ่ เนื้อดินค่อนข้างหยาบ ชุบน้ำดินสีขาวลวดลายสีดำ การเรียงถ้วยชามเข้าเตาเผาแห่งนี้จะใช้ กี๋ คือ จานที่มีขาปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามต่อชาม ดังนั้นภายในชามของเตาสุโขทัย จะปรากฏรอย 5 จุด อยู่
เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงป่ายาง

ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เหนือแก่งหลวงอยู่ใกล้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย เครื่องสังคโลกที่ได้จากแหล่ง นี้มีลวดลายและน้ำยาเคลือบสวยงาม รูปแบบพิเศษกว่าเตาเผาแหล่งอื่น แยกเป็นเตาเผารูปยักษ์ นาค มังกร และเตารูปตุ๊กตา สันนิษฐานว่าเตานี้จะเป็นเตาหลวง
เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงเกาะน้อย

ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยริมฝั่งคลองบางบอน ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นภาชนะถ้วยชาม,จาน,จานเชิง,โถ,ขวด มีหลาย สีเช่น สีน้ำตาล สีเหลืองอ่อน สีเขียวไข่กา สีขาว การเรียงเครื่องถ้วยเตาเผาไม่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเตาสุโขทัย แต่วางบนกี๋แท่งกลวง ก้นชามที่เตาเกาะน้อย นี้จะเป็นวงแหวนปรากฏอยู่
เครื่องสังคโลกจากเตาเมืองศรีสัขนาลัยมีระยะเวลาในการผลิตในราว 200 – 250 ปี ( ช่วงพุทธศต วรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ) และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม่เพียงแต่ขายภายในประเทศเท่านั้น แต่การพบสังคโลกตามแหล่งเรืออับปางต่างๆ ในอ่าวไทย เช่น เรือคราม , เรือพัทยา , เรือประแสร์ และในแหล่งโบราณคดีในต่างประเทศ เช่น ที่ Santa Ana , Calatagan ประเทศฟิลิปปินส์ และ Indragiri , Djambi ประเทศอินโดนีเซียก็เป็น หลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเครื่องสังคโลกเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญส่งไปขายยังต่างแดน ตลาดการค้าที่สำคัญคือหมู่เกาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่นนั้นให้ความนิยมเครื่องสังคโลกเป็นอย่างมากนำไปใช้ในพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีชงชา และมีชื่อเรียกเฉพาะเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ซังโกโรกุ”

การค้นพบเครื่องสังคโลกในโบราณสถานจากที่ต่าง รวมถึงการค้นพบเครื่องสังคโลกกับเครื่องถ้วย สีเขียวของจีนสมัยราชวงศ์หยวนในเรือที่จมใต้อ่าวไทยชื่อ “เรือรางเกวียน” เป็นต้น ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการศึกษาเปรียบ เทียบกับเครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงที่ค้น พบที่ประเทศฟิลิปปินส์ จึงสรุปได้ว่าเครื่องสังคโลกนั้นมีอายุระหว่างพุทธศต -วรรษที่ 18-19 การผลิตเครื่องสังคโลกเริ่มสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าส่งออกและขยายการผลิตอย่างแพร่หลายในสมัย กรุงศรีอยุธยา การผลิตเครื่องสังคโลกลดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดการค้าสังคโลกเปลี่ยนแปลงคือ การที่จีนหวนกลับมาผลิตเครื่องลายครามน้ำเงิน-ขาว ซึ่งกลายเป็นที่นิยมมากกว่า และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อ เรียกร้องของชาวตะวันตกที่มีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้ ให้นำเข้าเครื่องเคลือบจากทางตะวันตกเข้ามามากขึ้น
คำว่า สังคโลก นั้นมีข้อสันนิษฐานไว้ต่างกัน บ้างก็ว่ามาจากคำว่า “ซ้องโกลก” แปลว่า เตาแผ่นดินซ้อง บ้างก็ว่ามาจากคำว่า “ซันโกโรกุ” หรือ “ซังโกโรกุ” ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “สวรรคโลก” อันเป็นชื่อที่แพร่หลายของ เมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัยในพงศาวดารอยุธยา ชื่อเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก จึงมีความหมายเดิมจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเชลียงหรือศรีสัชนาลัยและเมืองที่สัมพันธ์กันคือสุโขทัย ซึ่งได้มีการค้นพบเตาผลิตมากมายในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีการค้นพบว่ามีเตาผลิตทางภาคเหนือของไทยอีกหลายแห่ง ได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทที่เรียกว่า “สังคโลก” เช่นกัน
ประเภทของเครื่องสังคโลก แบ่งได้ตามลักษณะเนื้อดินและลวดลาย และแบ่งตามเตาเผาได้ดังนี้

แต่ก่อนอื่นมารู้กันก่อนว่าเครื่องสังคโลกนั้นต้องมีลักษณะเนื้อดินและลวดลาย เนื้อดินเป็นประเภทเนื้อแกร่งหรือสโตนแวร์ (stoneware) ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาสูงประมาณ 1150-1280 องศาเซลเชียส เทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายมีต่าง ๆ กัน ดังนี้

เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต มีการประดับด้วยวิธีปั้นดิน แล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเผา
เครื่องถ้วยสีน้ำตาลเข้ม เป็นการเคลือบสีพื้นเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล

เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเสาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนาน (เครื่องถ้วยของเวียดนาม)

เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง

เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือ เซลาดอน ซึ่งตกแต่งลวดลายด้วยวิธีการขูดและขุดลายในเนื้อดินแล้วเคลือบทับ คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลง ฉวน สมัยราชวงศ์ซุ้งตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20)
ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลกจะเป็นลวดลายเฉพาะ ที่พบมากในจาน,ชาม คือ รูปปลา กงจักร ดอกไม้ เป็นต้น โดยเฉพาะรูปปลานั้นสันนิษฐานว่าเป็น “ปลากา” ไม่ใช่ปลาตะเพียนอย่างที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ เพราะมีการค้นพบในชามสังคโลกใบหนึ่งมีอักษรลายสือไทเขียนบอกชื่อปลาไว้ว่า “แม่ปลาก่า” อยู่ใต้ตัวปลา
“ปลากา” เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลากาดำ และปลากาทรงเครื่องทั้งสองชนิดมีมากในแม่น้ำลำคลองทั่วไปโดยเฉพาะ ที่แม่น้ำยม

ใส่ความเห็น